คำแถลงข่าวของประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...
คำแถลงข่าวของประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.
...
ตามที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่
41/2560 วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน
2560 ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พ.ศ. ... ไว้พิจารณาและแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา
ซึ่งคณะกรรมาธิการคณะนี้ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว
และได้เปิดเผยรายงานการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 นั้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(สสส.) มีความเห็นต่อการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการดังนี้
มาตรา ๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน
ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้เป็นกลางทางการเมือง
และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
ในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละสองคนมิได้
(๑) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
(๒)
มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
(๓)
มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
(๔)
มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
(๕)
มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันสมัคร หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา
แล้วแต่กรณี
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติห้าด้านดังกล่าว
เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องจากหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
(Paris Principles)
และเป็นการขยายความรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๖ ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ว่า
“...ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นกลางทางการเมือง
และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
จึงควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังที่กำหนดไว้ในมาตรา
๒๔๖ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เพียงเท่านั้น และควรเพิ่ม
“คำนึงถึงการมีส่วนของหญิงและชาย”
เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.
๒๕๔๒
มาตรา
๓๗ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์
หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ ให้คณะกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์
หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความเห็นว่า
ควรเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๑)
เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ ๒)
การเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง
ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง
หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
หรือกฎหมาย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐
เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักเกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อันอยู่ในขอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกิดจากกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองอันอยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครอง
ทั้งเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
มาตรา
46 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง
หรือผู้ร้องเรียน
รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ หรือตามกฎหมาย หรือตามคำสั่งศาล
ผู้จัดทำและเผยแพร่รายงานตามหมวดนี้ หากได้กระทำโดยสุจริต
ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ควรปรับปรุงดังนี้
(๑)
ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่จะต้องปกปิดไว้เป็นความลับ
ซึ่งผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นความผิด
โดยยึดหลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นสำคัญ
(๒)
ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดคือ ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไปแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
ประชาชน
และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๓)
ความรับผิดควรจำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นเท่านั้น
มาตรา
๖๐ ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบ ๓ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ เว้นแต่กรณี (๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา
๘ มิให้นำมาบังคับใช้
ในกรณีที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำรงตำแหน่งครบระยะเวลาตามวรรค
๑ ให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ควรเป็นไปตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้
เพื่อให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปตามหลักการปารีสโดยมิชักช้า
ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่หลากหลาย
และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดผลต่อการเลื่อนสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยดีขึ้นจากระดับ
B เป็นระดับ A ในที่สุด
มาตรา ๖๑ ๔(๑)
ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่า ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ผู้ใดถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตาม
(๔) ทั้งนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า
ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม ๔(๑) หากคงไว้ซึ่งหลักการเดิมในมาตรา ๖๐
ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนขอเสนอต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(สนช.) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พ.ศ. ... ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ ๓
ให้คำนึงถึงหลักการที่สำคัญที่ควรนำมาประกอบการพิจารณา ๔ ประการคือ
ประการแรก ต้องทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความอิสระ
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๗
คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิกอยู่
ได้มีมติ “ปรับลด” สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยจาก ระดับ
“A” มาเป็น “B” เนื่องจากเมื่อได้ประเมินการทำงาน
ตรวจสอบคุณสมบัติโดยเฉพาะกระบวนการสรรหากรรมการ
ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน
ตลอดจนการแสดงบทบาทและดำเนินภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว
เห็นว่าไม่สอดคล้องกับ
“หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”
ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๖
ประการที่สอง ต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. ๒๕๖๐
การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเกินกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิอาจทำได้
ประการที่สาม
ต้องคำนึงถึงอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีและพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...
จะต้องเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สี่
ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตน หรือสิทธิของชุมชน
ถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมากในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา
การทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถปกป้องคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้น
นายจตุรงค์
บุณยรัตนสุนทร
ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(สสส.)
๑๗
สิงหาคม ๒๕๖๐
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น