แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

แถลงการณ์ร่วม
เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ประเทศไทยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับผู้หญิงทุกคน
(กรุงเทพฯ 16 สิงหาคม 2560)                                        
ในนามเครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention for the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อแสนอแนะที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ คณะกรรมการฯ (UN Committee on Eliminations of Discriminations against Women) รับรองมาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล
กว่า 32 ปีที่ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เรามีรัฐบาลมาแล้ว 14 รัฐบาล ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมาจากการแต่งตั้งตนเอง แต่เราพบว่าความคืบหน้าในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ยังล่าช้าอยู่มาก ตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้หญิงก็ยากลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นและการเลือกปฏิบัติที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนรายงานตามวาระการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีตัวแทนจากรัฐบาลไทย ไปร่วมการรายงานทั้งหมด 31 ท่าน ได้ตอบคำถามต่อคณะกรรมฯ ในหลายประเด็น หลังจากนั้น ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้เผยแพร่ ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประเทศไทย (Concluding Observations) เรารู้สึกยินดีที่คณะกรรมการฯ ได้สะท้อนความเห็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องเผชิญและมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนและเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายจึงได้ปรึกษาหารือกันเพื่อสรุปประเด็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของผู้หญิงที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายต่ออนุสัญญาCEDAW และเพื่อเยียวยาบรรเทาสถานการณ์ที่ร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในประเทศไทย เครือข่ายของเรามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในประเด็นสำคัญ ดังนี้

การเข้าถึงความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยา
คณะกรรมการฯ กังวลเกี่ยวกับอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อต้องการเข้าถึงความยุติธรรม ผู้หญิงทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกข่มขู่คุกคามโดยดำเนินคดีทางกฎหมาย
ผู้หญิงทุกคนต้องสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากองทุนยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพผ่านขั้นตอนที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน
ปัญหาความแออัดในเรือนจำหญิงและความขาดแคลนด้านสถานที่และบริการด้านต่างๆ ภายในเรือนจำจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายต่างๆ จะต้องไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐจะต้องยุติปฏิบัติการล่อซื้อและการจู่โจมค้นซึ่งส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้หญิงทำงานบริการ (และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์) โดยทันที
เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการค้ามนุษย์จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศภาวะ เพศวิถี ในกระบวนการยุติธรรม รัฐจะต้องให้การสนับสนุนที่จำเป็น และเพียงพอต่อผู้หญิง และเด็กหญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุ้มครองกลุ่มหญิงแรงงานข้ามชาติ
รัฐต้องให้ความสำคัญอันดันแรกต่อความปลอดภัยและความยุติธรรมของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวแทนที่จะใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยและปรองดอง
อ้างถึง ข้อคิดเห็นโดยสรุปของคณะกรรมการ ย่อหน้า 11(a) 25 (c) 27 (d) 31 (a) 22 (a) 29

การมีส่วนร่วมในกำหนดนโยบายและกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว
            คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้หญิงจำนวนน้อยที่เป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจในทุก ๆ ระดับ และยังขาดตัวแทนจากผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ผู้หญิงจะต้องสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกๆ ระดับของการกำหนด นโยบายและกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ
            เรา คือ ผู้พิทักษ์ผืนดิน ป่าไม้ ภูเขา และแม่น้ำ ดังนั้น ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
            เรา คือ แม่ และ แรงงานซึ่งเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ดังนั้น ผู้หญิงต้อง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและแผนพัฒนา นโยบายด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
            เรา คือ สมาชิกชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น ผู้หญิงจะต้องลงมือสร้างและมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ
            เรา คือ ผู้ลี้ภัยหญิง แรงงานข้ามชาติหญิง ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงทำงานบริการ ผู้หญิงในเพศหลากหลาย เราจะต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดนโยบายหรือกฎหมายใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรา
(อ้างถึง ข้อคิดเห็นโดยสรุปของคณะกรรมการฯ ย่อหน้า 11(d), 23 (b) (c), 27 (a), 43 (c) (d) 29)

ความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย
คณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงทุกคนได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย
ผู้หญิงกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LBTI) จะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงกฎหมายที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนกฎหมายที่ให้บริการด้านการฟื้นฟูเยียวยาในกรณีถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขืน ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่มีข้อห้ามการเลือกปฏิบัติในสิทธิการก่อตั้งครอบครัว การให้บริการทางสุขภาพ การศึกษาและการจ้างงาน
ผู้หญิงที่ถูกจำกัดอิสรภาพในสถานที่คุมขังทุกรูปแบบจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานของกฎหมายไทยและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แรงงานหญิงทุกคนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานของไทยซึ่งการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในสถานบันเทิงด้วย
องค์กรส่วนท้องถิ่นจะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงทุกคนรวมถึงผู้หญิงในพื้นที่ชนบท ผู้หญิงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองให้เข้าถึงการแจ้งเกิดบุตรได้
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดและรับรองสิทธิไว้
(อ้างถึง ข้อคิดเห็นโดยสรุปของคณะกรรมการฯ ย่อหน้า 11, 27 (f), 33(c) 12, 21, 23 (d), 31 (b), 43 (b), 44, 29)

การเคารพความแตกต่าง
            คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยให้ส่งเสริมการเคารพความแตกต่างเพื่อนำไปสู่การขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอันเนื่องมากจากชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพศวิถี เพศสภาพ ลักษณะทางเพศ อาชีพ หรือสถานะทางกฎหมาย รัฐบาลไทยต้องตระหนักและแก้ไขภาพเหมารวมและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานของรัฐ และที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จัดบริการทางสังคม
(อ้างถึง ข้อคิดเห็นโดยสรุปของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ย่อหน้า 19)

มาตรการพิเศษชั่วคราว
            คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยใช้มาตรการพิเศษชั่วคราวเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้าถึงความเสมอภาคอย่างแท้จริงในทุกๆเรื่อง (อ้างถึง ข้อคิดเห็นโดยสรุปของคณะกรรมการฯ ย่อหน้าที่ 17)
            เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้ตกลงดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นปัญหาเร่งด่วนของผู้หญิงดังกล่าวจะได้รับความสำคัญและตอบสนองจากรัฐบาลไทย เราคาดหวังว่าภายในหนึ่งปีนับจากนี้เราจะได้เห็นความก้าวหน้าจากรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี
              สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้จัดแปลและเผยแพร่ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประชาชนทั่วไป ตลอดจนดำเนินการสร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีให้แก่หน่วยงานและสถาบันต่างๆของรัฐโดยเร็วที่สุด

ลงนาม
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
กลุ่มรักษ์ลาหู่       
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
มูลนิธิศักยภาพชุมชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
โพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล
โรงน้ำชา Togetherness for Equality and Action (TEA Group)
มูลนิธิสุวรรณนิมิต
SHEro Project
กลุ่มเรนโบว์ ไรซ์ สุรินทร์ และเยาวชนสีขรภูมิ
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก
คณะทำงานวาระทางสังคม                                                                                                                         
Patani Working Group
เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
กลุ่มหญิงสู้ชีวิต
กลุ่มแฟรี่เทล
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย วีมูฟ
ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom)
สหพันธ์คนงานข้ามชาติ Migrant Workers Federation (MWF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
กลุ่มด้วยใจ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ชมรมโกลบอลแคมปัสเชียงใหม่ เครือข่ายสตรีพิการ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
เครือข่ายประชากรข้ามชาติ
กลุ่ม Rainbow dream group
ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ความคิดเห็น