แถลงการณ์ ทบทวนและยกเลิกการกล่าวหานักวิชาการและนักกิจกรรม 5 คน และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

แถลงการณ์
ทบทวนและยกเลิกการกล่าวหานักวิชาการและนักกิจกรรม  5 คน
และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ตามที่มีการจัดประชุมวิชาการไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560  ในระหว่างการจัดงาน ทางกลุ่มนักวิชาการนานาชาติได้อ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 และต่อมา ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ดังกล่าว  นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม  นางสาวภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นานชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ได้รับหมายเรียกจากตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจช้างเผือก ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 5 ได้ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซี่งห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรข้างท้ายขอแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1) การประชุมวิชาการไทยศึกษา เป็นเวทีทางวิชาการเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาความรู้ท้องถิ่น ปัญหาสังคม ความรู้เพื่อนบ้าน และเป็นเวทีวิชาการที่ “วิพากษ์รัฐและทหาร” ด้วย ซึ่งการวิพากษ์รัฐในเวทีไทยศึกษาเป็นธรรมเนียมทางวิชาการที่ถือปฏิบัติกันมาเกือบสี่ทศวรรษของการจัดงานนี้ ไม่ว่ารัฐนั้น จะเป็นรัฐภายใต้รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

2) ในการประชุมวิชาการไทยศึกษาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงานทั้ง “ทหาร” และ “ตำรวจ” เข้ามาแฝงตัวในกลุ่มผู้เข้าประชุม มีการถ่ายภาพผู้อภิปราย ผู้เข้าร่วม อันเป็นการคุกคามประชาคมวิชาการ และเป็นการแทรกแซงเวทีวิชาการโดยรัฐเป็นครั้งแรกของการประชุมไทยศึกษา ซึ่งนักวิชาการไทย ประชาชนไทย และนักวิชาการต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม ไม่อาจยอมรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดังกล่าวได้

3) การออกหมายเรียกนักวิชาการทั้ง 5 คน โดยพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ซึ่งการใช้เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่กระทำโดยสงบ ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของสังคมหรือของชาติได้แต่ประการใด

4) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งออกมาบังคับใช้แทนกฏอัยการศึก ไม่ควรถูกนำมาบังคับใช้ในสภาวะปกติที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามหรือสภาวะฉุกเฉินอันเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของประเทศ การดำรงอยู่และการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อข้อ 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การใช้อำนาจตามคำสั่งดังกล่าวมาออกหมายเรียกประชาขน จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

5) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อทบทวนการตั้งข้อหานักวิชาการและนักกิจกรรม ทั้ง 5 คน ดังกล่าวโดยเร็ว และขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของความปรองดองของคนในชาติ สร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป  

​​​​​18  สิงหาคม 2560
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)


ความคิดเห็น